การวิเคราะห์ผู้เรียน

 การวิเคราะห์ผู้เรียน เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้การจัดการเรียนการสอนมีข้อมูลทางการเรียนมาพัฒนาผู้เรียนให้เป็นไปตามจุดหมายของหลักสูตรสถานศึกษา  และหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช  2551

วิเคราะห์นักเรียนด้วยรูปแบบการเรียนรู้ ( Learning Style )   รูปแบบการเรียนรู้ (Learning style) หมายถึง แนวทางที่คนเราชอบนำมาใช้ในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เนื่องจากเป็นวิธีที่สามารถทำให้บุคคลนั้นเกิดการเรียนรู้ได้ดีที่สุด หรือหมายถึง อุปนิสัยและวิธีที่คนเราชอบใช้ในการเรียนรู้ ดังนั้น ถ้าผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยวิธีที่ตนเองชอบ ก็จะรู้สึกว่าเรื่องที่เรียนนั้นง่ายและมีความสุขมากที่สุดเวลาเรียน

มนุษย์มีศักยภาพในการเรียนรู้ (learning potential) ไม่เท่ากัน เนื่องจากมีรูปแบบการเรียนรู้แตกต่างกัน นักจิตวิทยาได้ศึกษาช่องทางในการรับรู้ (perceptual pathway) ของมนุษย์ พบว่า มนุษย์มีการรับข้อมูลเข้าสู่สมองโดยผ่านเส้นทางการรับรู้ 3 ช่องทาง คือ

  • ผ่านทางตาโดยการมองเห็น (Visual percepter)
  • ผ่านทางโสตประสาทโดยการได้ยิน (Auditory percepter)
  • ผ่านทางร่างกายโดยการเคลื่อนไหวและรับความรู้สึก (Kinesthetic percepter )

จากช่องทางการรับรู้ทั้ง 3 ทางดังกล่าว นักจิตวิทยาจึงนำมาจัดเป็นรูปแบบการเรียนรู้ของผู้เรียนออก เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ แต่ละกลุ่มจะมีความแตกต่างกันในการเรียนรู้ ดังนี้

1. ผู้ที่เรียนรู้ทางสายตา (Visual people) จะเรียนรู้ได้ดีที่สุดถ้าให้เรียนจากรูปภาพ แผนภูมิ แผนผัง หรือจากเนื้อหาที่เขียนไว้เป็นเรื่องราว เวลานึกถึงเหตุการณ์ใด ๆ จะคิดเป็นภาพเหมือนกับเวลาที่ดูภาพยนตร์ คือ มองเห็นเป็นภาพที่สามารถเคลื่อนไหวบนจอฉายหนังได้เนื่องจากระบบเก็บความจำได้จัดเก็บสิ่งที่เรียนรู้ไว้เป็นภาพ
2. ผู้ที่เรียนรู้ทางโสตประสาท (Auditory people) จะเรียนรู้ได้ดีที่สุดถ้าได้ฟังหรือได้พูด แต่จะไม่สนใจพวกรูปภาพ ไม่สร้างเป็นภาพ และไม่ผูกเรื่องราวในสมองเป็นภาพเหมือนกับกลุ่มที่ชอบเรียนรู้ทางสายตา คุณลักษณะพิเศษของคนกลุ่มนี้ก็คือ การมีทักษะในการได้ยินได้ฟังที่เหนือกว่าคนอื่น ดังนั้น จึงสามารถเล่าเรื่องต่างๆ ได้อย่างละเอียดลออ และรู้จักใช้คำพูด ในด้านการคิดมักคิดเป็นคำพูดมากกว่า
3. ผู้ที่เรียนรู้ทางร่างกายและความรู้สึก (Kinesthetic people) จะเรียนรู้ได้ดีที่สุดโดยผ่านการรับรู้ทางความรู้สึก การเคลื่อนไหว และร่างกาย ผู้เรียนกลุ่มนี้จึงสามารถจดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้ดีหากได้มีการสัมผัสและมีความรู้สึกที่ดีต่อสิ่งที่เรียน
ที่มา รศ.มัณฑรา ธรรมบุศย์

วิเคราะห์นักเรียนตามพฤติกรรมลีลาการเรียนรู้ ( Learning Style )  การวิเคราะห์นักเรียนตามพฤติกรรมลีลาการเรียนรู้ เพื่อศึกษาธรรมชาติของนักเรียนว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร มากน้อยเพียงใด แล้วนำข้อมูลที่ได้มาสังเคราะห์ในการจัดนักเรียนเป็นกลุ่ม เพื่อครูจะได้ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับธรรมชาติของนักเรียนซึ่งมีวิธีการ ดังนี้

  1. สำรวจนักเรียนโดยใช้แบบวิเคราะห์พฤติกรรมลีลาการเรียนรู้ของนักเรียน
  2. บันทึกสรุปพฤติกรรมลีลาการเรียนรู้
  3. จัดทำข้อมูลสารสนเทศการวิเคราะห์การเรียนรู้ตามพฤติกรรมลีลาการเรียนรู้
  4. นำผลการวิเคราะห์มาพิจารณาจัดกลุ่มให้กับนักเรียน เพื่อส่งเสริมให้นักเรียน

มีความร่วมมือ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในขณะเรียน ซึ่งมีลักษณะในการจัดกลุ่มดังนี้

– นักเรียนที่มีลีลาการเรียนรู้แบบหลบหนี ไม่จัดให้อยู่กลุ่มเดียวกัน เพราะ จะทำให้ขาดความสนใจและขาดความร่วมมือภายในกลุ่ม

– นักเรียนที่มีลีลาการเรียนรู้แบบพึ่งผู้อื่น ไม่จัดให้อยู่กลุ่มเดียวกัน เพราะ จะทำให้ขาดความกระตือรือร้นภายในกลุ่ม

– นักเรียนที่มีลีลาการเรียนรู้แบบพึ่งตนเอง ไม่จัดให้อยู่กลุ่มเดียวกัน เพราะ จะทำให้ขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของกลุ่ม

– นักเรียนที่มีลีลาการเรียนรู้แบบแข่งขัน ไม่จัดให้อยู่กลุ่มเดียวกัน เพราะ มีลักษณะเป็นผู้นำ หวังที่จะได้รับคำชมเชยเพียงผู้เดียว และชอบที่จะชนะอยู่เสมอ

– นักเรียนที่มีลีลาการเรียนรู้แบบร่วมมือ จัดอยู่กลุ่มเดียวกันได้เพราะ มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและร่วมกิจกรรมกับลีลาการเรียนรู้อื่นได้เป็นอย่างดี

– นักเรียนที่มีลีลาการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม จัดอยู่กลุ่มเดียวกันได้ เพราะ มีความรับผิดชอบต่องานและร่วมกิจกรรมกับลีลาการเรียนรู้อื่นได้เป็นอย่างดี

ดังนั้นภายในกลุ่มจะมีนักเรียนที่มีรูปแบบการเรียนรู้และพฤติกรรมลีลาการเรียนรู้ต่างกัน แต่ลักษณะการทำงานของกลุ่มจะสนับสนุนในด้านการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ร่วมมือกัน และมีความเป็นผู้นำ และผู้ตามที่ดีอันเป็นเส้นทางในการนำไปสู่การปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ได้ตามเป้าหมายของสาระการเรียนรู้

as2